ซื้อหน้ากากอนามัยออนไลน์ แล้วไม่ได้ของ ทำอย่างไรดี
by pr@anctecstore.com 04/03/2020
ข่าวล่าสุด “พาณิชย์” สวมบทโหด งัดกฎหมายบริหารจัดการสินค้าควบคุมในภาวะวิกฤต สั่งหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ทุกชิ้นหรือยอดล่าสุด 38 ล้านชิ้น ต้องส่งเข้าศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดเพื่อนำมาบริหารจัดการเอง พร้อมออกประกาศ กกร. สั่งทุกคนที่มีหน้ากากแจ้งปริมาณครอบครอง ป้องกันการกักตุน เร่งประสานดีอีเอสตามจับพวกขายออนไลน์โก่งราคาเข้าคุก ไม่เว้นกระทั่งแพลตฟอร์มออนไลน์ อี-มาร์เก็ตเพลส ที่ปล่อยให้โพสต์ขายแพง เจอเล่นงานด้วย
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมหน้ากากอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป หน้ากากอนามัยทุกชิ้นที่โรงงานผลิตได้ หรือประมาณ 38 ล้านชิ้น จะต้องนำเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ปันส่วนเข้าศูนย์ประมาณ 40-45% เพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจปกติของภาคเอกชน เพราะ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์เต็มที่ในการบริหารจัดการสินค้าควบคุมภายใต้ภาวะวิกฤต ส่วนเมื่อนำมาทั้งหมด 100% แล้ว โรงงานจะสามารถทำการค้าได้ตามปกติหรือไม่นั้นอยู่ที่การพิจารณากันในศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย
“ที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ขอปันส่วนจากผู้ผลิตทั้ง 11 แห่งในสัดส่วนไม่เกิน 45% ของกำลังการผลิต เพื่อมากระจายต่อให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ก่อน อย่างโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ และส่งให้ร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้าทั่วประเทศ เพื่อขายสู่ประชาชน ส่วนที่เหลือโรงงานไปขายเองตามช่องทางการค้าปกติ เช่น ขายให้แก่ลูกค้าต่างๆ แต่กลับพบว่ามีการประกาศขายตามสื่อโซเชียลจำนวนมาก ทำให้ผู้จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่ได้ใช้ จึงต้องเข้ามาบริหารจัดการเอง”
นอกจากนี้ จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศ กกร. กำหนดให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยจะเสนอให้ กกร.พิจารณาโดยเร็วที่สุด หากไม่แจ้ง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมที่ กกร.กำหนดให้เฉพาะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ต้องแจ้งปริมาณที่มีในครอบครอง
นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาผู้ค้าหน้ากากอนามัยเกินราคาผ่านทางออนไลน์ ได้ขอความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการตรวจสอบเพื่อให้ถึงตัวผู้กระทำผิดผ่านสื่อโซเชียลแล้ว และเมื่อจับกุมได้จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด โดยจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน เจ้าของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซทุกรายที่มีผู้ขายหน้ากากอนามัยเข้าไปค้ากำไรเกินควร จะเข้าข่ายมีความผิดฐานค้ากำไรเกินควรด้วย โดยมีความผิดฐานเดียวกันกับผู้ค้า รวมถึงผู้ที่เป็นอี-มาร์เก็ตเพลส และเปิดให้ผู้ขายมาโพสต์ขายสินค้าและมีผู้ซื้อเข้ามาซื้อสินค้าก็เสี่ยงมีความผิดกฎหมายอาญา หากพบการกระทำความผิดจะถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาดเช่นเดียวกัน
ล่าสุด เพจกองปราบปราม ได้เผยขั้นตอนการแจ้งความร้องทุกข์ในกรณี ซื้อหน้ากากอนามัยออนไลน์แล้วไม่ได้ของ โดยต้องเตรียมหลักฐานดังนี้
-
เว็บไซต์ เพจ หน้าประกาศขายที่เราซื้อแล้วโดนหลอก
-
หลักฐานข้อความแชทการซื้อขาย
-
รายละเอียดผู้ขาย ชื่อ นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์ และเลขบัญชีธนาคาร
-
หลักฐานการโอนเงิน
-
และเตรียมสำเนาบัตรประชาชนผู้เสืยหาย
เมื่อเตรียมหลักฐาน ซื้อหน้ากากอนามัยออนไลน์ ที่มีปัญหาครบถ้วนแล้ว ให้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่
-
สถานนีตำรวจท้องที่ (พื้นที่สถานีตำรวจที่เราทำการโอนเงิน)
-
หรือแจ้งที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
ที่ใดเพียงที่หนึ่งภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันรู้ว่าถูกโกง
ทั้งนี้ผู้โกงด้วยการขายหน้ากากอนามัย มีความผิดดังนี้
-
ผิด ฉ้อโกง ตาม ป.อาญา มาตรา 341
โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-
ผิด ฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 343
โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-
ผิด พรบ.คอมฯ มาตรา 14 (1)
โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท (มีอายุความ 10 ปี )
-
และกรณีขายเกินราคา ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดําเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทําให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทําให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด
บทกำหนดโทษเป็นไปตามมาตรา 41 คือ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ้างอิง magageronline, it24hrs, CSDthai